การตีมีดตอกจากบาร์เลื่อย พร้อมวิธีการเลือกเหล็กบาร์เลื่อยในการทำมีด
มีดตอกในภาคอีสานไม่ได้เป็นเพียงแค่มีดที่ใช้ในการทำเครื่องจักสานเพียงแค่อย่างเดียว แต่ยังถือเป็นมีดสารพัดประโยชน์ที่มีความผูกพันกับคนอีสานตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะมีดตอกใช้เหลาตอกเพื่อตัดสะดือเด็กทารกแรกเกิด และยังใช้เป็นมีดสำหรับตัดฝ้ายผูกผีในงานศพ ในทางไสยศาสตร์นั้นยังมีการกล่าวถึงการใช้มีดตอกเหลาตอกเพื่อทำวัวธนู และใช้ปาดกล้วยเพื่อทำหุ่นฟันรูปฟันนามค่ะ สำหรับบทความนี้ ชาน่าคราฟต์จะมาแนะนำวิธีการตีมีดตอกบาร์เลื่อย พร้อมแนะนำพร้อมแนะนำวิธีการเลือกเหล็กบาร์เลื่อยมาทำมีด
ทำไมจึงนิยมนำมาบาร์เลื่อยมาตีเป็นมีดอเนกประสงค์
เหตุผลที่ช่างมีดนิยมนําบาร์เลื่อยมาตีเป็นมีดได้แทบทุกประเภทคล้ายกับเหล็กแหนบ ตั้งแต่มีดอเนกประสงค์ไปจนถึงมีดทำครัว นั่นก็เพราะว่าบาร์เลื่อยนี้สามารถนำไปชุบแข็งแบบคงรูปหรือชุบแข็งให้ยืดหยุ่นแบบสปริงก็ได้เช่นกัน มีข้อดีตรงที่สามารถงัดก็ได้ ปาดเฉือนก็คม รักษาคมได้ดี แต่ทั้งนี้บาร์เลื่อยที่แนะนำควรเป็นบาร์เลื่อยขนาดใหญ่ ที่ไม่มีการซ้อนทับ และไม่มีการฝังหัวเฟือง
บาร์เลื่อยที่นำมาตีมีดยี่ห้อไหนดี
เนื่องจากบาร์เลื่อยมีคุณสมบัติเป็นสปริง เมื่อนำมาทำเป็นมีดตอกก็สามารถทำได้ง่ายเพียงแค่วาดแบบที่ต้องการลงไปบนบาร์เลื่อย แล้วตัดตามรูปทรงที่ต้องการได้เลยค่ะ แต่ก็ไม่ใช่ว่าบาร์เลื่อยทุกยี่ห้อจะสามารถนำมาตีมีดได้นะคะ ควรเลือกบาร์เลื่อยที่มีคาร์บอนสูง เช่น บาร์เลื่อย STIHL บาร์เลื่อย Oregon เป็นต้น หรือบาร์เลื่อยที่เป็นของแท้เพราะบาร์เลื่อยเหล่านี้มักจะทำจากเหล็ก L6 สามารถชุบแข็งได้และไม่ควรใช้บาร์เลื่อยที่ซ้อนแผ่นโลหะมา ควรเป็นโลหะแผ่นเดียวเท่านั้น
ขั้นตอนการทำส่วนที่เป็นมีดตอกจากบาร์เลื่อย

การตัดบาร์เลื่อยเป็นทรงมีดตอก
บาร์เลื่อยจะมีผิวมันลื่น ในการตัดเหล็กประเภทนี้เพื่อทำเป็นมีดตอกก็ควรเลือกใช้ใบตัดไฟเบอร์ที่ออกแบบมาสำหรับสเตนเลสโดยเฉพาะ หลังตัดใบมีดเสร็จแล้ว ก่อนจะสัมผัสใบมีดตอกก็อย่าลืมล้างคราบฝุ่นเหล็กออกจากใบมีดเสียก่อน มิฉะนั้นฝุ่นเหล่านั้นก็จะปักผิวหนังทำให้เกิดการอักเสบได้

การตียืดและไล่ระดับคมมีด
การลงค้อนตีมีดนวดเหล็กจะไม่มีเคล็ดลับตายตัวขึ้นอยู่กับความถนัดของช่างแต่ละคน แต่การตีมีดตอกซึ่งมีลักษณะคล้ายกับกลีบบัว จะต้องเน้นตีบริเวณคมมีด ไม่เน้นตีสันเหมือนกับมีดทั่วไปค่ะ ในการตีไล่ระดับคมจะต้องมีการพลิกกลับไปมาเพื่อตีให้แก้มคมบางเท่ากัน

การอบอ่อนมีด
ปกติการอบอ่อนจะทำก่อนตีมีด แม้แต่ดาบศอก หรือมีดสังฆวานร ก็ทำเช่นเดียวกัน แต่การอบอ่อนบาร์เลื่อยครั้งนี้จะทำหลังจากที่ตีขึ้นรูปเสร็จแล้ว ให้นำมีดเล่มดังกล่าวไปแช่ทิ้งไว้ในถ่านที่เหลือจากการตีมีด และต้องทำก่อนที่จะตะไบแต่งคม มิเช่นนั้นจะทำให้ตะไบไม่สามารถขูดผิวมีดได้ค่ะ
ขั้นตอนการชุบมีดตอกบาร์เลื่อย

แต่งคมมีดก่อนชุบคมเสมอ
สามารถเจียขึ้นรูปได้ด้วยใบเซอร์โคเนีย แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องปรับระดับแนวคมมีดด้วยการใช้หินขัดแต่งคมอีกครั้งก่อนนำไปชุบ เพราะหลังชุบแล้วคมจะขัดยากหรือขัดไม่เข้าเลย

เน้นเผาแค่ส่วนคมมีด
ถ่านที่ใช้ในการชุบมีดควรเป็นถ่านค้างเตา หรือถ่านเก่า เพราะจะสามารถควบคุมความร้อนได้ดี เน้นเผาเฉพาะส่วนคมจะทำให้มีดไม่แตกเวลานำไปชุบ

ชุบมีดตอกในน้ำเปล่า
การชุบก็จะชุบเฉพาะส่วนคมในน้ำเปล่า แต่น้ำนั้นก็ต้องผ่านการอุ่นมาก่อน ซึ่งรอยสีขาวที่ปรากฏบนใบมีด ก็คือร่องรอยที่บ่งบอกถึงความแข็งหลังการชุบมีดค่ะ

ขั้นตอนการทำด้ามมีดตอก

ด้ามมีดตอกจะมีความพิเศษที่ความยาว
ด้ามของมีดตอกจะมีความยาวกว่ามีดทั่วไป นั่นก็เพราะว่าปลายด้ามจะใช้เหน็บกับผ้าขาวม้าผูกเอว ช่วยให้ผู้ใช้สามารถตวัดคมมีดเหลาตอกได้ง่ายขึ้น ปลายด้ามของมีดตอกก็จะมีความพลิ้วคล้ายกับลายกนก ทว่าเรียวเล็ก แต่พี่ช่างต้องการให้ปลายด้ามสอดรับกับมือผู้ใชงานจึงออกแบบให้มีขนาดใหญ่และใช้วิธีการต่อไม้ด้วยกาวร้อนค่ะ

เข้าด้ามมีดตอกกับด้ามไม้มะเกลือ
ด้ามมีดตอกจะนิยมใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้พะยูง ไม้ชิงชัน ไม้สาทร ไม้ประดู่ แต่เราเลือกใช้ไม้มะเกลือซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อนที่เรามีอยู่ในขณะนั้น สีของไม้จะข้นไปทางดำเงา

ขัดผิวด้วยขี้ผึ้งขัดไม้
เพิ่มความเงางามให้กับด้ามมีดด้วยขี้ผึ้งขัดไม้ชาน่าคราฟต์ที่ทำขึ้นเอง ซึ่งสามารถใช้ขัดผิวที่โชว์ลายไม้และทาเคลือบใบมีดป้องกันสนิม
มีดตอกบาร์เลื่อย ใช้งานได้สารพัดประโยชน์
ข้อดีของมีดที่มีด้ามยาวก็คือจะใช้เป็นการ์ดป้องกันแขนของผู้ใช้งานได้ดี แต่ทั้งนี้วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของมีดตอกก็คือเพื่อใช้ในการจักสาน มีดตอกบาร์เลื่อยธรรมดา 1 เล่มอาจจะใช้เหลาไม้ไผ่เพื่อทำด้ามไม้กวาด หรืออาจจะใช้เหลาตอกเพื่อสานหย่องพานข้าวพระพุทธ ที่พุทธศาสนิกชนชาวอีสานทำขึ้นเพื่อทดแทนพานเครื่องสูงในการถวายภัตตาหารแด่พระมหาศาสดาเจ้าก็ได้เช่นกันค่ะ

ชนาณัฏฐ์ ชเณศวรสิทธิ์
นักเขียน ผู้บรรยายเสียง ร้อยเรียงเนื้อหาของชาน่าคราฟต์ Chana Craft